การศึกษา
และการเข้ารับราชการ
ครั้นเมื่อเด็กชายสิน อายุได้ ๙ ขวบ เจ้าพระยาจักรีนำเข้าฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระอาจารย์ทองดี
วัดโกษาวาส[9] ต่อมาได้เข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี เจ้าพระยาจักรีได้จัดงานมงคลตัดจุกนายสิน เป็นการเอิกเกริกและในระหว่างนั้น
มีผึ้งหลวงมาจับที่เพดานเบญจารดน้ำปรากฏอยู่ถึง ๗ วันจึงหนีไป และในระหว่างนี้
นายสินได้พยายามศึกษาหาความรู้ในภาษาต่างประเทศ มี ภาษาจีน ภาษาญวน
และ ภาษาแขก จนสามารถพูดคล่องได้ทั้ง ๓ ภาษา และยังได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย
ขอม และคัมภีร์พระไตรปิฎก
ในวันหนึ่ง
นายสินคิดตั้งตนเป็นเจ้ามือบ่อนถั่ว ชักชวนบรรดาศิษย์วัดเล่นการพนัน
พระอาจารย์ทองดีทราบเรื่องจึงลงโทษทุกคน เฉพาะนายสินเป็นเจ้ามือถูกลงโทษหนักมากกว่าคนอื่น
ให้มัดมือคร่อมกับบันไดท่าน้ำประจานให้เข็ดหลาบ นายสินถูกมัดแช่น้ำตั้งแต่เวลาพลบค่ำ
พอดีเป็นช่วงเวลาน้ำขึ้น พระอาจารย์ทองดีไปสวดพระพุทธมนต์ลืมนายสิน
จนประมาณยามเศษ พระอาจารย์นึกขึ้นได้จึงให้พระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นอันเตวาสิก
ช่วยกันจุดไต้ค้นหาก็พบนายสินอยู่ริมตลิ่ง มือยังผูกมัดติดอยู่กับบันได
แต่ตัวบันไดกลับหลุดถอนขึ้นมาได้อย่างอัศจรรย์ เมื่อพระภิกษุสงฆ์ช่วยกันแก้มัดนายสินแล้ว
พระอาจารย์ทองดีจึงพาตัวนายสินไปยังอุโบสถให้นั่งลงท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์
แล้วพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายสวดพระพุทธมนต์ด้วยชัยมงคลคาถาเป็นการรับขวัญ
ทรงผนวช
ต่อมาเมื่อนายสินเรียนจบการศึกษา
เจ้าพระยาจักรีก็ได้นำไปถวายตัวรับราชการภายใต้หลวงนายศักดิ์นายเวร
ภายหลังเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์จนมีอายุได้ ๒๐ ปี บริบูรณ์
เจ้าพระยาจักรีได้จัดการอุปสมบทเป็นพระภิกษุให้ โดยได้อุปสมบทอยู่กับอาจารย์ทองดี
ณ วัดโกษาวาส และบวชอยู่นานถึง ๓ พรรษา ในระหว่างอุปสมบทพระภิกษุสินได้ออกบิณฑบาตพร้อมกับพระภิกษุ
ทองด้วง เป็นประจำเพราะรับราชการเป็นมหาดเล็กทำงานด้วยกันมาหลายปี
ทั้งสองมีความรักใคร่กลมเกลียวกันมาก ได้อุปสมบทพร้อมกัน เช้าวันหนึ่งพระภิกษุทั้งสองเดินไปตามถนน
เพื่อรับบิณฑบาตจากพระราชวังหลวง มีชายจีนผู้หนึ่งเดินผ่านพระภิกษุทั้งสองไปได้
๓-๔ ก้าว ก็หยุดชะงักหันกลับมาดูแล้วก็หัวเราะ ทำเช่นนี้ถึง ๕-๖
ครั้ง สองภิกษุมองหน้าแล้วถามว่าหัวเราะเรื่องอะไร ชายจีนผู้นั้นบอกว่าตนเป็นซินแสหมอดู
สามารถทายลักษณะของบุรุษหรือสตรีได้ แล้วทำนายให้พระภิกษุทั้ง ๒
องค์ว่า
ซินแสทายพระภิกษุองค์ที่
๑
ชายใดไกรลักษณ์พร้อม เพราองค์
ศักดิ์กษัตร์ถนัดทรง ส่อชี้
สมบัติขัติยมง คลครอบ ครองแฮ
ชายนั้นคือท่านนี้ แน่ข้าพยากรณ์ฯ
ซินแสทายพระภิกษุองค์ที่
๒
ท่านเป็นบุรุษต้อง ตามลักษณ์ ล้วนแล
บุญเด่นเห็นประจักษ์ เจิดกล้า
จักสู่ประภูศักดิ์ สุรกษัตร์
สืบศุภวงษ์ทรงหล้า สฤษฎ์เลี้ยง เวียงสยาม
เกิดมาข้าพเจ้าไม่ เคยเห็น
สองสหายหลายประเด็น เด่นชี้
ภายหน้าว่าจักเป็น ปิ่นกษัตร์
นั่งอยู่ คู่กันฉนี้ แน่ล้วน ชวนหัว
สองภิกษุว่า
สองข้าอายุใกล้ เคียงกัน
ทั้งคู่จะทรงขัณฑ์ ผิดเค้า
เป็นกษัตร์ร่วมรัฐบัล ลังก์ร่วม ไฉนนอ
เห็นจะสัดตวงข้าว แน่แท้คำทายฯ
การกลับเข้ารับราชการหลังจากทรงลาสิกขาบท
พระภิกษุสินได้ดำรงอยู่ในสมณเพศถึง
๓ พรรษา ที่วัดโกษาวาส แล้วจึงลาสิกขาบทออกมารับราชการใหม่ ในตำแหน่งมหาดเล็กรายงาน
ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็น
หลวงยกกระบัตร ไปรับราชการอยู่ที่เมืองตาก [12]เมื่อเจ้าเมืองตากถึงแก่อนิจกรรม
ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หลวงยกกระบัตรเป็น พระยาตาก
ต่อมาเมื่อมีข้าศึกพม่ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา
พระยาตากก็ได้ถูกเรียกตัวให้ลงมาช่วยงานราชการในกรุงศรีอยุธยา พระยาตากทำการสู้รบกับข้าศึกด้วยความเข้มแข็งสามารถยิ่ง
มีบำเหน็จความชอบในสงคราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็น
พระยาวชิรปราการ ผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร แต่ยังมิได้ขึ้นไปปกครองเมืองกำแพงเพชร
เพราะติดราชการสงครามกับพม่าอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๙
เสียก่อน
พ.ศ.
๒๓๑๐ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พระยาวชิรปราการก็รวบรวมคนไปตั้งเป็นชุมนุมพระเจ้าตากที่เมืองจันทบูร
[14] และมากอบกู้เอกราช และสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ กรุงธนบุรี
ปลายรัชสมัย
ในตอนปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เกิดกบฏขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา
พวกกบฎได้ปล้นจนพระยาอินทรอภัย ผู้รักษากรุงเก่าจนต้องหลบหนีมายังกรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้พระยาสรรค์ขึ้นไปสืบสวนเอาตัวคนผิดมาลงโทษ
แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้ากับพวกกบฎ และยกพวกมาปล้นพระราชวังที่กรุงธนบุรีในวันแรม
๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๔ บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินออกผนวช
และคุมพระองค์ไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แล้วพระยาสรรค์ได้ตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน[16]
เหตุการณ์ภายหลังจากนั้นไม่แน่ชัดโดยมีความเชื่อหลายกระแส อาทิ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
(ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ซึ่งไปราชการทัพเมืองกัมพูชา
และยกกำลังเข้าตีเมืองเสียมราฐ เมื่อทราบข่าวการจลาจลในกรุงธนบุรี
จึงรีบยกทัพกลับ ขณะนั้นเป็นเดือน เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมาถึงในวันที่
๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ก็ได้สืบสวนเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้น
และจับกุมผู้ก่อการกบฎมาลงโทษ รวมทั้งให้ข้าราชการปรึกษาพิจารณาความที่มีผู้ฟ้องร้อง
กล่าวโทษว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นต้นเหตุ เนื่องจากพระองค์ทรงเสียพระสติ
[17] เพื่อมิให้เกิดปัญหายุ่งยากอีก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงถูกสำเร็จโทษและเสด็จสวรรคต
ในวันพุธ แรม 13 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล แต่ยังเป็นตรีศก จ.ศ.1143 หรือตรงกับวันที่
๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระชนมพรรษาได้ ๔๗ พรรษากับ ๑๕ วัน (ตามประชุมพระราชพงศาวดารภาค
8 จดหมายเหตุโหร) พระองค์พระราชสมภพและสวรรคตในเดือนเดียวกัน แต่บางฉบับก็บอกว่าเป็นวันเดียวกัน
ซึ่งยังไม่มีใครทราบเป็นที่แน่ชัด นักประวัติศาสตร์บางส่วนเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ถูกสำเร็จโทษ
แต่ทรงจงใจสละราชบัลลังก์เพื่อจะได้มิต้องชำระเงินกู้จากประเทศจีน
เมื่อทรงได้รับการปล่อยตัวอย่างลับ ๆ แล้วจึงเสด็จลงเรือสำเภาไปประทับที่เขาขุนพนม
จังหวัดนครศรีธรรมราช[18] เสด็จสวรรคตที่นั่นในปี พ.ศ. ๒๓๖๘[19][20]
งานเขียนสำคัญที่กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงปลายรัชสมัย แตกต่างจากในพระราชพงศาวดาร
ที่มีชื่อเสียงเช่น เรื่องสั้นชุด ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน โดย หลวงวิจิตรวาทการ
และ นวนิยาย ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? โดย สุภา ศิริมานนท์
พระราชกรณียกิจ
การสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น
การปกป้องแผ่นดิน
การปกป้องแผ่นดินเป็นพระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้กระทำตลอดพระชนม์ชีพ
ซึ่งนอกจากการต่อสู้เพื่อรวมแผ่นดินแล้ว ยังต้องป้องกันหัวเมืองชายแดนอีกด้วย
ตลอดรัชสมัย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทำสงครามกับพม่าถึง ๙ ครั้ง
แต่ด้วยพระอัจฉริยะภาพ ทางยุทธวิธีและความเชี่ยวชาญในการรบของทหาร
จึงทำให้ทัพไทยรบชนะพม่าทุกครั้ง
สงครามครั้งที่
๑ รบพม่าที่บางกุ้ง พ.ศ. ๒๓๑๐ [24] นับเป็นการศึกครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี
เนื่องมาจากทางพม่าทราบข่าวว่ามีคนไทยตั้งตัวเป็นใหญ่ จึงสั่งให้เจ้าเมืองทวายเข้าสืบข่าวเพื่อที่จะกำจัดเสีย
สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรู้ข่าวจึงโปรดให้จัดกองทัพไปขับไล่กองทัพพม่า
- มอญ ทหารพม่าเป็นฝ่ายแพ้ต้องถอยทัพกลับทางเมืองทวาย โดยทหารไทยสามารถยึดเรือรบอาวุธและเสบียงอาหารของพม่าไว้ได้
สงครามครั้งที่ ๒ พม่าตีเมืองสวรรคโลก พ.ศ. ๒๓๑๓ [25][26]
สงครามครั้งที่ ๓ ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก พ.ศ. ๒๓๑๓ - พ.ศ.
๒๓๑๔ [27]
สงครามครั้งที่ ๔ พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๑๕
สงครามครั้งที่ ๕ พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๖[28]
สงครามครั้งที่ ๖ ไทยตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๗
สงครามครั้งที่ ๗ รบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี พ.ศ. ๒๓๑๗ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรู้ข่าวว่าพม่ายกพลตามพวกมอญที่หนีเข้ามาในเขตไทย
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพมุ่งตรงไปยังราชบุรี โดยทรงบัญชาการทัพด้วยพระองค์เอง
ทรงตั้งค่ายล้อมค่ายพม่าและลอบตีตัดทางลำเลียงเสบียงอาหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจากพระยายมราช
ในที่สุดพม่าจึงต้องยอมแพ้ ชัยชนะในครั้งนี้ส่งผลให้ผู้คนที่หลบซ่อนตามที่ต่าง
ๆ เข้ามาสวามิภักดิ์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากหมดความกลัวเกรงพม่า นับเป็นสงครามแบบจิตวิทยาโดยแท้
สงครามครั้งที่ ๘ อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ. ๒๓๑๘[29]
สงครามครั้งที่ ๙ พม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๑๙ สงครามครั้งนี้ถือว่าเป็นการรบครั้งสุดท้ายที่ไทยรบกับพม่าในสมัยกรุงธนบุรี
เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
มียศอย่างเจ้าต่างกรม คงดำรงตำแหน่งสมุหนายก [30]
การศึกสงครามดังกล่าวนี้ ส่งผลให้พระราชอาณาจักรไทยเป็นเอกราชและมีความมั่นคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
อาณาเขตประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ในสมัยกรุงธนบุรีได้มีการรวบรวมหัวเมืองต่างๆ
เข้ามาในพระราชอาณาจักร ได้แก่ ธนบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี
อุทัยธานี นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด
นครชัยศรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี
กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์
สมเด็จพระเจ้าตากสิน
ได้ทรงต่อสู้เพื่อขยายพระราชอาณาจักรเกือบตลอดรัชกาล อาณาเขตของประเทศไทยในสมัยนั้น
มีดังนี้
ทิศเหนือ
ได้ดินแดนหลวงพระบาง และเวียงจันทน์
ทิศใต้ ได้ดินแดนกลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี
ทิศตะวันออก ได้ดินแดนลาว เขมร ทางฝั่งแม่น้ำโขงจรดอาณาเขตญวน
ทิศตะวันตก จรดดินแดนเมาะตะมะ ได้ดินแดน เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี
การฟื้นฟูบ้านเมือง
การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกู้เอกราชกรุงศรีอยุธยากลับคืนจากพม่าได้นั้นทำให้กิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่ว
พระเกียรติยศของพระองค์จึงแพร่ไปว่าเป็นผู้สามารถกู้แผ่นดินไทยให้พ้นจากอำนาจพม่าข้าศึกได้
ทำให้ไพร่บ้านพลเมืองที่ยังหลบลี้อยู่ตามที่ต่างๆ พากันมาอ่อนน้อมเข้าร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นจำนวนมาก
ซึ่งจะเป็นกำลังในการบูรณะบ้านเมืองต่อไป ซึ่งพระราชกรณียกิจมีทั้งหมด
๗ ด้าน ดังนี้
ด้านการปกครอง
หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก
กฎหมายบ้านเมืองกระจัดกระจายสูญหายไปมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ทำการสืบเสาะ ค้นหามารวบรวมไว้ได้ประมาณ ๑ ใน ๑๐ และโปรดฯ ให้ชำระกฎหมายเหล่านั้น
ฉบับใดยังเหมาะแก่กาลสมัยก็โปรดฯ ให้คงไว้ ฉบับใดไม่เหมาะก็โปรดให้แก้ไขเพิ่มเติมก็มี
ยกเลิกไปก็มี ตราขึ้นใหม่ก็มี และเป็นการแก้ไขเพื่อราษฎรได้รับผลประโยชน์มากขึ้น
เช่น โปรดฯ ให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพนันให้อำนาจการตัดสินลงโทษขึ้นแก่ศาลแทนนายตราสิทธิ์ขาด
และยังห้ามนายตรานายบ่อนออกเงินทดลองให้ผู้เล่น เกาะกุมผูกมัดจำจองเร่งรัดผู้เล่น
กฎหมายพิกัดภาษีอากรก็เกือบไม่มี เพราะผลประโยชน์แผ่นดินได้จากการค้าสำเภามากพอแล้ว
กฎหมายว่าด้วยการจุกช่องล้อมวงก็ยังไม่ตราขึ้น เปิดโอกาสให้ราษฎรได้เฝ้าแหนตามรายทาง
โดยไม่มีพนักงานตำรวจแม่นปืนคอยยิงราษฎร ซึ่งแม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยังชื่นชมในพระราชอัธยาศัยนี้
เช่น มองเซนเยอร์ เลอบอง ได้บรรยายไว้ในจดหมายถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศว่า
บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่าพระเจ้าแผ่นดิน
แต่พระเจ้าตากเองว่าเป็นแต่เพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระเจ้าตากหาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อน
ๆ ไม่ และในธรรมเนียมของพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายทิศตะวันออกที่ไม่เสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ด้วยกลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศนั้น
พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา
เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่าถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์
และถ้าจะทรงมีรับสั่งด้วยแล้วจะทำให้เสียพระราชอำนาจลงแต่อย่างใด
เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระเนตรของพระองค์เอง
และจะทรงฟังการทั้งหลายด้วยพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น
มองเซนเยอร์ เลอบอง
เนื่องจากตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
เป็นช่วงเวลาที่มีการทำศึกสงครามเกือบตลอดเวลา จึงทำให้ไม่มีเวลาที่จะชำระพระราชกำหนดกฎหมายต่าง
ๆ ทำให้ต้องใช้กฎหมายที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยให้กรมวังหรือกระทรวงวังเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาว่าคดีใดควรขึ้นศาลใด
แล้วส่งคดีไปยังศาลกรมนั้น ๆ โดยได้แบ่งงานศาลออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่
ๆ คือ
ฝ่ายรับฟ้อง
มีหน้าที่ในการเขียนคำฟ้องและพิจารณารูปคดีว่าควรจะฟ้องหรือไม่ ก่อนจะส่งขึ้นศาลเพื่อพิจารณา
เรื่องปรับไหมและลงโทษผู้กระทำผิด
ฝ่ายตรวจสำนวนและพิพากษา
ฝ่ายนี้เดิมเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแขนงต่าง ๆ จำนวน
๑๒ คน โดยเรียกว่า "ลูกขุน ณ ศาลหลวง" ต่อมาได้มีคนไทยที่เชี่ยวชาญกฎหมายเข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วย
คณะลูกขุน ณ ศาลหลวงนี้จะไม่มีอำนาจในการปรับหรือลงโทษแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสิน
พระองค์จะทรงใช้ ศาลทหาร เป็นส่วนใหญ่ โดยในการตัดสินคดีทุกครั้ง
แม้พระองค์จะตัดสินให้ลงโทษสูงสุดแล้ว แต่ก็จะมีรับสั่งให้ทยอยการลงโทษจากขั้นต่ำสุดก่อน
ซึ่งหลายครั้งจะปรากฏว่านักโทษที่มีความผิดร้ายแรงก็มักจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษหนัก
โดยให้ไปกระทำการอย่างอื่นเป็นการไถ่โทษแทน
การออกพระราชกำหนดสักเลก
พ.ศ. ๒๓๑๖ เพื่อสะดวกในการควบคุมกำลังคน การขยายอำนาจเข้าไปในดินแดนที่เคยเป็นประเทศราชของไทยในลาวและเขมรเพื่อทำให้ประเทศเข้มแข็งมั่นคง
และการเตรียมการให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ไปปกครองเขมรในฐานะเมืองประเทศราช
[32] แต่ได้เกิดจลาจลในกรุงธนบุรีเสียก่อนจึงไม่สำเร็จ ส่วนหัวเมืองใหญ่
ๆ ที่เป็นทางผ่านของทัพพม่าก็โปรดให้แม่ทัพนายกองที่มีความสามารถไปปกครอง
เช่น พระยาสุรสีห์ไปครองเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาพิชัยราชาไปครองเมืองสวรรคโลก
นอกจากขับไล่พม่าออกไปจากอาณาจักรได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินยังได้ขยายอำนาจเข้าไปในลาว
ได้หัวเมืองลาวเข้ามาอยู่ในอำนาจอาจกล่าวได้ว่า สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นสมัยแห่งการกู้เอกราชของชาติ
รวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ขับไล่ข้าศึกออกไปจากอาณาเขตไทยและขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยของพระองค์
ไทยจึงยิ่งใหญ่เท่าเทียมเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยามีความรุ่งเรือง
ด้านเศรษฐกิจ
สภาพบ้านเมืองหลังจากเสียกรุง
ทำให้สภาพเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก มีประมาณครึ่งราชอาณาเขตครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
มีมณฑลกรุงเทพฯ มณฑลอยุธยา มณฑลราชบุรี มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์
มณฑลปราจีน และมณฑลจันทบุรี ครั้งนั้นมีมณฑลจันทบุรีเพียงมณฑลเดียวที่นับว่าปกติ
ส่วนมณฑลที่เหลือถูกพม่าย่ำยียับเยิน เป็นเมืองร้าง ขาดการทำไร่นาถึง
๒ ปี ผู้คนที่เหลือจากการถูกพม่ากวาดต้อนไปต่างพากันอพยพหลบหนีแตกกระจัดพลัดพราก
เที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ตามป่าดงโดยมาก ต้องทรงเกลี้ยกล่อมผู้คนให้กลับมาอยู่ถิ่นเดิม
เมื่อผู้คนมาอยู่รวมกันมากเข้า ไม่ช้าก็เกิดการอัตคัด เสบียงอาหารไม่เพียงพอ
ทรงสามารถแก้ไขความขัดข้องได้โดยปัจจุบันทันด่วน จึงทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อข้าวสารและเครื่องนุ่งห่มในราคาสูง
เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ทำให้เกิดผลดีอย่างยิ่ง ๓ ประการคือ
ประการที่ ๑ เมื่อบรรดาพ่อค้าทั้งหลายทราบว่าสินค้าที่นำมาขาย
ณ กรุงธนบุรี จำหน่ายได้ดีและมีราคาสูงเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้พ่อค้าพากันบรรทุกข้าวเปลือกข้าวสาร
ตลอดจนเสื้อผ้าสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เข้ามาขายที่กรุงธนบุรีมากขึ้น
ทำให้ประชาชนพลเมืองมีเสื้อผ้าอาหารเพียงพอกับความต้องการ ความอดอยากขาดแคลนก็หมดไป
ประการที่ ๒ เมื่อพ่อค้าแข่งขันกันนำสินค้านานาชนิดเข้ามาขายกันมากขึ้น
ก็ทำให้บังเกิดภาวะสินค้าล้นตลาด เกินความต้องการของประชาชน ราคาสินค้าจึงเริ่มถูกลงเป็นลำดับ
ความเดือดร้อนของราษฎรก็ค่อยๆ หมดสิ้นไป
ประการที่ ๓ บรรดาราษฎรที่ยังแตกฉานซ่านเซ็นซุกซ่อนหลบหนียุทธภัยอยู่ตามที่ต่างๆ
เป็นอันมากนั้น เมื่อทราบข่าวว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเลี้ยงดูราษฎรมิให้อดอยากด้วยพระเมตตาปรานีเช่นนั้น
ก็พากันมีความยินดีและอพยพกลับคืนเข้ามาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม ในบ้านในเมืองกันมากขึ้น
ทำให้กรุงธนบุรีมีประชาชนพลเมือง เป็นกำลังเพิ่มเติมยิ่งๆ ขึ้น เป็นอันมาก
สามารถนำไปใช้ในการต่อสู้ข้าศึกศัตรู ป้องกันบ้านเมืองได้ดียิ่งขึ้น
ราษฎรได้เริ่มต้นดำเนินอาชีพ ประกอบการทำมาหากินกันสืบต่อไปใหม่
ยังผลให้บ้านเมืองที่เคยตกอยู่ในสภาพเป็นเมืองร้างมาแต่ก่อนนั้น
ได้กลับคืนเข้าสู่สภาพปกติสุข มีความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นขึ้นมาใหม่อีก
เศรษฐกิจของชาติจึงได้เริ่มฟื้นคืนดียิ่งๆ ขึ้นโดยลำดับ
ทรงนำทรัพย์สมบัติส่วนองค์และของพระชนนีรวมทั้งของน้องๆ ที่สะสมไว้
เอามาช่วยในราชการทั้งสิ้น เพราะท่านได้ครองแผ่นดินอันว่างเปล่า
ปราศจากปราสาทพระราชวัง ปราศจากสิ่งของอันมีค่า และท้องพระคลังที่ว่างเปล่า[34]
อีกทั้งพวกทหารของท่านที่มีเชื้อสายจีนได้ติดต่อญาติมิตรซึ่งเป็นคนค้าขาย
ได้เงินรวมกันประมาณหมื่นตำลึง บางคนให้ข้าวสาร ปลาเค็ม ฯลฯ แต่มิได้ลงบัญชี
แน่นอนได้เลย
ต่อมาได้ญาติของท่าน
(เจียนจิ้น) ทำหนังสือเพื่อจะขอยืมเงินข้าราชการจีนหรือพระเจ้ากรุงปักกิ่งมาซื้อปืน
เหล็กตีดาบ และซื้อดาบที่ดีจากเมืองใกล้ๆ มาใช้ พร้อมทั้งหอก ง้าว
และทวนด้วย ในที่นี้กล่าวว่ายืมเงินจากพ่อค้า ข้าราชการและพระเจ้ากรุงปักกิ่ง
รวมกันได้หกหมื่นตำลึง
พระราชทรัพย์ที่ทรงนำมาจับจ่าย
ในการซื้อข้าวสารเสื้อผ้า พระราชทานแก่บรรดาข้าราชการและประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนักอยู่ในเวลา
นั้น สมเด็จพระปิยมหาราชทรงสันนิษฐานว่า ซื้อข้าวเลี้ยงคนโซ คงจะได้เงินจากค่ายโพธิสามต้น
สุรีย์ ภูมิภมร
กล่าวถึงการหาพระราชทรัพย์ที่นำมาใช้จ่ายว่า ...ขายดีบุก งาช้าง
และไม้ซุง เพื่อเอาเงินมาช่วยในการซื้ออาหารและเครื่องนุ่งห่ม
[35]
อีกตอนหนึ่ง สมเด็จพระปิยมหาราชได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า
เงินจะได้มาทางใดไม่ว่า เจ้ากรุงธนบุรีเป็นผู้ซื้อข้าวมาแจกเฉลี่ยเลี้ยงชีวิตกันในเวลาขัดสน
อิ่มก็อิ่มด้วยกัน อดก็อดด้วยกัน...
ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
มีกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า ...ได้ปืนใหญ่พม่าที่ขนไปไม่ได้ค้างอยู่
ให้ระเบิดเอาทอง (คิดว่าน่าจะเป็นทองเหลือง หรือทองสำริด-ผู้รวบรวม)
ลงสำเภา ซื้อข้าวถังละ 6 บาท เลี้ยงคนโซไว้ได้กว่าพัน...
สมัยกรุงธนบุรี
เป็นสมัยที่ต้องสร้างชาติบ้านเมืองกันใหม่ พระองค์ทรงทำนุบำรุงการค้าขายทางเรืออย่างเต็มที่
ทรงค้าขายกับจีน เป็นประจำ ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปขายหลายสาย ทางตะวันออกถึงเมืองจีน
ทางตะวันตกถึงอินเดีย ผลกำไรที่ได้จากการค้าสำเภามีมากพอที่จะช่วยบรรเทาการเก็บภาษีอากรจากราษฎรในระยะแรกซึ่งราษฎรยังตั้งตัวไม่ได้
สภาพเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าตอนต้นรัชกาล โดยมีรายได้จากภาษีขาเข้าและภาษีขาออกจากเรือสินค้าต่างชาติ
ได้แก่ จีนและชวาที่เข้ามาค้าขายกับไทย
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ทรงส่งเสริมการนำสินค้าพื้นเมืองไปขายทางเรือ ซึ่งอำนวยผลประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่องานสร้างชาติ
ทำให้ราษฎรมีงานทำ มีรายได้ ทั้งทรงมีพระราชประสงค์ที่จะฝึกให้คนไทยเชี่ยวชาญการค้าขาย
ป้องกันมิให้การค้าตกอยู่ในมือชนต่างชาติ และรักษาประโยชน์ของสินค้าพื้นเมืองมิให้ถูกทอดทิ้ง
พระองค์ทรงพยายามผูกไมตรีกับจีนเพื่อประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงของชาติและประโยชน์ในด้านการค้า[36][37][38]
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขเศรษฐกิจและสภาพบ้านเมือง
ยังมีปัญหาอยู่บ้าง ดังที่บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ชื่อ มองเซนเยอร์ เลอบอง
ซึ่งเข้ามาในเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘ จดบันทึกไว้ในช่วง พ.ศ. ๒๓๑๘
ดังนี้[39]
จนถึงเวลาเดี๋ยวนี้
อาหารการกินในเมืองนี้ยังแพงมาก เพราะบ้านเมืองไม่เป็นอันทำมาหากินมาเป็นเวลา
๑๕ ปีแล้ว และในเวลานี้ยังหาสงบทีเดียวไม่
มองเซนเยอร์ เลอบอง
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกังวลพระทัยในเรื่องนี้จึงมีพระราชดำรัสว่า[40]
บุคคลผู้ใดเป็นอาทิคือเทวดา
บุคคลผู้มีฤทธิ์มาประสิทธิ์มากระทำให้ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ขึ้น ให้สัตว์โลกเป็นสุขได้
แม้นผู้นั้นจะปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคแก่ผู้นั้นได้
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ด้านคมนาคม
ในยุคนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกเลิกความคิดแนวเก่าที่ว่าหากถนนหนทาง
ทางคมนาคมดีมากแล้วจะเป็นการอำนวยประโยชน์ให้ข้าศึกศัตรูและพวกก่อการจลาจล
แต่กลับทรงเห็นเป็นประโยชน์ในทางค้าขายมากกว่า ดังนั้น ในฤดูหนาวหากว่างจากศึกสงคราม
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนและขุดคลอง จะเห็นได้จากแนวถนนเก่าๆ
ในเขตธนบุรีซึ่งมีอยู่หลายสาย ส่วนการขุดชำระคลองมักมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์
เช่น คลองท่าขาม จากนครศรีธรรมราชไปออกทะเล เป็นต้น
ด้านการศึกษา
สมัยกรุงธนบุรีเป็นระยะเวลาที่บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย
การฟื้นฟูการศึกษาจึงทำได้ไม่มากนัก แต่วัดก็ยังเป็นแหล่งที่ให้การศึกษาอยู่
โดยมีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้นที่มีโอกาสศึกษา เพราะต้องอยู่กับพระที่วัดเรียนหนังสือและได้รับการอบรมความประพฤติ
เรียนพระธรรม ภาษาบาลีสันสกฤต และศัพท์เขมร เพื่อประโยชน์ในการอ่านคัมภีร์พระพุทธศาสนา
นอกจากนี้มีวิชาเลข เน้นมาตรา ชั่ง ตวง วัด มาตราเงินไทย และการคิดหน้าไม้
ซึ่งจะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีวิชาช่างฝีมือสำหรับเด็กโต ส่วนใหญ่เกี่ยวกับงานช่างก่อสร้าง
เพื่อประโยชน์ในการบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะ และสิ่งก่อสร้างภายในวัด
สำหรับการเรียนวิชาชีพโดยตรงนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ใครมีอาชีพอะไรก็ถ่ายทอดวิชานั้นๆ
ให้แก่ลูกหลานของตนตามสายตระกูล เช่น วิชาแพทย์แผนโบราณ วิชาช่างปั้น
ช่างถม ช่างแกะสลัก ช่างปูนปั้น ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างทอง ส่วนการศึกษาสำหรับเด็กหญิง
จะถือตามประเพณีโบราณคือ เรียนเย็บปักถักร้อย ทำกับข้าว การจัดบ้านเรือน
การฝึกอบรมมารยาทของกุลสตรี สังคมสมัยนั้นไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ
จึงมีน้อยคนที่อ่านออกเขียนได้ [41]
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
จึงโปรดเกล้าฯให้บำรุงการศึกษาตามวัดต่างๆ และยังโปรดเกล้าฯให้ตั้งหอหนังสือขึ้นเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา
ซึ่งคงเทียบได้กับหอพระสมุดในระยะหลัง[42] นอกจากนี้ทรงโปรดเกล้าฯให้แสวงหาและรวบรวมตำราต่างๆ
ที่กระจัดกระจายไปเมื่อคราวกรุงแตกไว้ที่พระอารามหลวง หรือหามาจำลองไว้เป็นแบบฉบับเพื่อใช้ศึกษาเล่าเรียน[43
ด้านศาสนา
ถึงแม้ว่าในรัชสมัยของพระองค์ บ้านเมืองจะตกอยู่ในภาวะสงครามเกือบตลอดเวลา
แต่พระองค์กลับมิได้ทรงละเลยงานด้านศาสนจักร ได้ทรงมุ่งมั่นทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง
เหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา พระราชกรณียกิจด้านฟื้นฟูพระพุทธศาสนามีดังนี้
บทสวดมนต์
พุทธชัยมงคลคาถา
มีบันทึกโบราณบอกไว้ดังนี้
"เมื่อ พระเจ้าตากสินมหาราชตีเมืองจันทบุรีได้แล้วก็ทรงเล็งเห็นว่า
สงครามกู้ชาติต่อจากนี้ไป จะต้องหนักหนาและยืดยาว จึงทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระยอดธงแบบศรีอยุธยาขึ้น
แล้วนิมนต์พระเถระทั้งหลาย มาสวดบทพาหุงมหากาบรรจุไว้ในองค์พระ และพระองค์ก็ทรงเจริญรอยตาม
พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้วยการเจริญพาหุงมหากา จึงบันดาลให้ทรงกู้ชาติสำเร็จ"[44]
การจัดระเบียบสังฆมณฑล
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบสังฆมณฑลทันทีภายหลังการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี
ครั้งที่ยกทัพไป ปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมื่อทรงเห็นว่าพระสงฆ์ทางฝ่ายหัวเมืองเหนือมัวหมอง
ก็ได้อาราธนาพระราชาคณะ จากในกรุงไปสั่งสอน ทำให้พระสงฆ์กลับบริสุทธิ์และเป็นปกติสุขขึ้น
การรวบรวมพระไตรปิฎก
สมเด็จพระเจ้าตากสิน ยังได้ทรงมุ่งมั่นในการสืบเสาะค้นหาต้นฉบับพระไตรปิฎกที่ยังเหลืออยู่หลังจาก
เสียกรุง เพื่อนำมาคัดลอกจำลองไว้สำหรับการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงต่อไป
ซึ่งจะเห็นได้จาก เมื่อคราวที่เสด็จไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชในปีพุทธศักราช
๒๓๑๒ ได้มีรับสั่งให้ขอยืมคัมภีร์ พระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราชบรรทุกเรือเข้ามาคัดลอกในกรุงธนบุรี
และในปีถัดมาในคราวที่เสด็จ ไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองอุตรดิตถ์
ได้โปรดเกล้าฯ ให้นำพระไตรปิฎกลงมาเพื่อใช้สอบทานกับ ต้นฉบับที่ได้จากเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสังคายนาพระไตรปิฎก
ในสมัยต่อมา
การสมโภชพระแก้วมรกต
ดูเพิ่มที่ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
ภายหลังจากที่รบชนะเมืองเวียงจันทน์ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบางกลับมายังกรุงธนบุรีด้วย โดยให้จัดขบวนเรือพยุหยาตรามโหฬารถึง
๒๔๖ ลำ และเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับด้วยพระองค์เอง แล้วให้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้
ณ พระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม ต่อมารัชกาลที่ ๑ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง
[45]
การบูรณะปฏิสังขรณ์วัด
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ
เป็นจำนวนมาก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง
เช่น วัดอินทารามวรวิหาร, วัดหงส์รัตนาราม และวัดอรุณราชวราราม
พระราชกำหนดว่าด้วยศีลสิกขา
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายว่าด้วยวัตรปฏิบัติในทางธรรมวินัยของพระสงฆ์
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๖ โดยถือเป็นต้นฉบับกฎหมายพระสงฆ์ฉบับแรกของไทย[46][47]และทรงนำแนวคิดทางพระพุทธศาสนา
มาใช้เป็นหลักในการจัดระเบียบสังคมในสมัยนั้นด้วย
และหลังจากกอบกู้แผ่นดินได้แล้ว
พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศมาจัดถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติและยังทรงรับอุปการะบรรดา
เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า พระราชโอรส ตลอดทั้งพระเจ้าหลานเธอของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์ด้วยความกตัญญู
[48]
|